ประชาชนกลัวเรื่องการใช้เงิน จะจับจ่ายใช้สอยก็ต้องเลือกที่ประหยัด สินค้าฟุ่มเฟือยอย่างโทรศัพท์มือถือก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปทรงและเทคโนโลยี จึงเลือกที่จะซื้อมือถือเถื่อน แหล่งที่มาหลักคือมาจากจีนแดง เพียงหวังว่าต้องการซื้อในราคาที่ถูกแต่อันตรายตามมามากมาย
รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
กทช. จับตามือถือจีนทะลัก ชี้เครื่องหิ้วไม่ผ่านการทดสอบถือเป็น"เครื่องเถื่อน" พร้อมส่งทีมออกตรวจ สบท.เตือนอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพ ชี้ช่องฟ้องเอาผิดร้านค้า
(ชี้ช่องฟ้องเอาผิดร้านค้า) เผยสถิติ8เดือน มีมือถือ 72 ยี่ห้อ365รุ่นยื่นขอทดสอบ แต่ตรวจพบวางขายจริงตามท้องตลาดเกลื่อนเป็นร้อยๆ ยี่ห้อ
จากกรณีที่มีโทรศัพท์มือถือจีนและมือถือแบรนด์เล็กเข้ามาทำตลาดจำนวนนับ100แบรนด์ โดยวางขายเกลื่อนร้านมือถือทั่วประเทศ นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หากผู้ค้านำโทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้ยื่นขอทดสอบรับรองตัวอย่าง (type approval) จากสำนักงาน กทช. ถือเป็นเครื่องที่นำเข้าและจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย และมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคม พ.ศ.2498 เพราะโดยขั้นตอนปกติ เมื่อสำนักงาน กทช.รับรองตัวอย่างเสร็จแล้ว ผู้นำเข้าสินค้าจึงสามารถนำใบรับรองไปแสดงต่อกรมศุลกากรเพื่อขออนุญาตนำเข้าได้
สำหรับโทรศัพท์มือถือบางแบรนด์ที่ไม่ได้ผ่านการรับรองตัวอย่าง แต่มีจำหน่ายตามท้องตลาดถือเป็นเครื่องเถื่อน ส่วนใหญ่ลักลอบนำเข้าหรือหิ้วเข้ามาเป็นลอตๆ โดยร้านค้าที่วางจำหน่ายนั้นหากเป็นร้านที่ได้ใบอนุญาตจำหน่ายอุปกรณ์วิทยุโทรคมนาคมจากสำนักงาน กทช. ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะต้องรายงานสต๊อกสินค้าให้ทราบทุกเดือนอยู่แล้ว
"มือถือที่นำเข้ามาขายจากจีน แบรนด์ใหม่ๆ มีเป็นร้อยๆ ยี่ห้อ มาตรการในการตรวจสอบของเราทำโดยส่งทีมออกตรวจสอบตามท้องตลาด ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดเป็นประจำอยู่แล้ว และเมื่อพบเครื่องที่ไม่ได้รับรองตัวอย่างก็จะแจ้งให้ทางศุลกากรเข้าทำการตรวจสอบ"
ด้าน น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) กล่าวว่า มือถือที่วางจำหน่ายต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุโทรคมนาคม (มีหน่วยวัดเป็น SAR : specific absorbtion rate) ด้วย ในกรณีที่ผู้บริโภคซื้อเครื่องที่นำเข้าโดยผิดกฎหมาย แล้วรู้สึกว่าอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพจะสามารถร้องเรียนได้ 2 ช่องทาง คือ 1.ร้องเรียนที่ สบท. ซึ่งบทลงโทษจะเป็นไปตามกฎหมายที่ กทช.เป็นผู้บังคับใช้ และ 2.ฟ้องร้องร้านค้า หรือผู้จำหน่ายได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกฟ้องต้องรับภาระในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง แทนที่ผู้ฟ้องต้องเป็นผู้รับภาระนี้ตามกฎหมายแพ่งทั่วไป แต่ช่องทางนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับ กทช.แต่อย่างใด
"ประชาชาติธุรกิจ" ได้รวบรวมรายชื่อโทรศัพท์มือถือที่ผ่านการตรวจสอบ และรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สกทช.) ตามประกาศ กทช. เรื่องระเบียบสำหรับการรับตรวจสอบ และรับรองมาตรฐานของเครื่องโทรคมนาคม และอุปกรณ์ พบว่าตั้งแต่เดือน ธ.ค.2550 จนถึงเดือน ส.ค.2551 มีโทรศัพท์มือถือที่ผ่านการทดสอบรับรองตัวอย่าง (type approval) จำนวน 365 รุ่น รวม 72 แบรนด์ โดยส่วนใหญ่ไม่ใช่แบรนด์เนม หรือเฮาส์แบรนด์ที่ผู้บริโภคคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่เป็นแบรนด์หน้าใหม่ๆ ทั้งนั้น
แบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งไปโชว์ตัวในงาน "โมบาย เอ็กซ์โป" และพอจะคุ้นตาอยู่บ้าง อาทิ SCOOL, SKG, NEX, VIGY, WINS, ZYQ, MXNEC เป็นต้น
เฉพาะ "SKG" ส่งโปรดักต์ทดสอบมาถึง 16 รุ่น ถัดมาเป็น ZYQ มี 11 รุ่น มากกว่า "โมโตโรล่า" เสียอีก
เฮาส์แบรนด์ระดับกลางๆ เช่น WellcoM, TWZ, iLink, G-Net ก็มีสินค้านับสิบรุ่นที่ยื่นทดสอบเครื่อง
จากการสำรวจตลาดโทรศัพท์มือถือของ "ประชาชาติธุรกิจ" ยังพบด้วยว่า มีโทรศัพท์มือถือหลายแบรนด์ที่ไม่ได้ยื่นขอรับการทดสอบจากสำนักงาน กทช.แต่อย่างใด แต่มีวางจำหน่ายตามร้านทั่วไปแล้ว หรือบางยี่ห้อยื่นทดสอบเพียงรุ่นเดียว แต่สินค้าที่นำมาวางตลาดผ่านช่องทางต่างๆ กลับมีหลายรุ่นด้วยกัน
ขอขอบคุณรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ