Friends talk contact man love
Invite buying

ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เทคนิคการเลือกซื้อกล้องดิจิตอลให้ตรงใจคุณ


สวัสดีครับ เพื่อเป็นการต้อนรับโฉมใหม่ของเว็บไซท์ ผมก็ได้รับมอบหมายให้เขียนบทความเพื่อมาคอยอัพเดทลงเว็บใหม่นี้ ในฐานะที่ทำงานอยู่หน้าร้านกล้องดิจิตอลมาหลายปี ได้สัมผัสกล้องดิจิตอลอยู่ก็หลากหลายรุ่น และได้พูดคุยสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง ผมพบว่าหนึ่งในคำถามที่ผมพบบ่อยที่สุดก็คือหัวข้อที่เอามาเขียนบท ความครั้งแรกครั้งนี้ของผมเนี่ย คือ ”เลือกซื้อกล้องดิจิตอลอย่างไรดี?” อันนี้ถือเป็นคำถามยอดฮิตที่ผมพบเจอแทบทุกวันเลยนะครับ และมันก็ออกมาเป็นคู่มือการเลือกซื้อกล้องดิจิตอล(ฉบับเบื้องต้น) ตามที่คุณผู้อ่านจะได้อ่านต่อไปนี่ แต่ก่อนอื่นผมขอออกตัวก่อนว่า ผมรู้ดีว่าที่จริงบทความหัวข้อนี้หรือใกล้เคียงกันนี้ คุณผู้อ่านอาจจะสามารถพบได้ทั่วไปตามหนังสือหรือตามเว็บไซท์ เพียงแต่ในกรณีนี้ ผมจะไม่ได้เขียนให้เป็นแนววิชาการที่อ่านยาก หรือมีแต่ศัพท์วิชาการไม่คุ้นเคยเต็มไปหมด (ที่ตอนผมเริ่มจับกล้องใหม่ๆ ผมก็งงจังล่ะกะศัพท์แสงพวกนี้) แต่ผมจะให้เป็นสไตล์ที่ว่าผมมานั่งคุย-นั่งเล่าให้ฟังด้วยภาษาสบาย ๆ ก็ถือว่าแบ่งปันข้อมูลตามประสบการณ์ที่ผมเจอและรวบรวมมาให้ละกัน เนื่องจากกล้องดิจิตอลในปัจจุบันนี้มีให้เลือกซื้อมากมาย ทั้งยี่ห้อเดียวกับกล้องฟิล์มที่เราคุ้นชื่อกันมานาน ไปจนถึงยี่ห้อที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือยี่ห้อใหม่ ๆ อีกเยอะแยะ การที่จะตัดสินใจซื้อกล้องซักตัวจึงนับว่าเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวอยู่มิน้อย โดยเฉพาะสำหรับมือใหม่ที่ไม่เคยรู้เรื่องกล้องดิจิตอลมาก่อน หรือแม้กระทั่งมือเก่าที่เคยเล่นกล้องมาแล้วบ้างแล้วอยากจะเปลี่ยนรุ่นหรือ อะไรก็ตาม ก็ถือว่าลองอ่านบทความนี้ดู เผื่อจะช่วยเป็นแนวทางในการตัดสินใจได้บ้างเวลามีลูกค้า (หรือแม้กระทั่งเพื่อนผมเองที่รู้ว่าผมทำงานด้านนี้อยู่) มาสอบถามและให้แนะนำ นี่คือสิ่งที่ผมให้ความสำคัญ1.) งบประมาณ : งบประมาณเท่าไหร่ คำถามนี้สำคัญมาก เพราะพอรู้งบประมาณ ผมจะสามารถระบุรุ่นให้อยู่ตามงบที่ลูกค้าต้องการได้ ถ้ารุ่นที่ราคาเกินงบ ก็ตัดทิ้งไปได้เลยไม่ต้องลังเล แต่งบประมาณนี้

จะแยกย่อยไปได้อีก 2 หัวข้อย่อยคือ

•งบประมาณเฉพาะตัวกล้อง

•งบประมาณทั้งกล้องและ อุปกรณ์เสริมที่ต้องการ เช่น memory card

(หน่วยความจำของกล้อง เปรียบเทียบได้คล้ายๆกับฟิล์ม เพียงแต่สามารถนำกลับมาใช้บันทึกรูปซ้ำได้อีก ไม่ได้ใช้แค่ครั้งเดียวอย่างฟิล์ม) ขาตั้งกล้อง ซึ่งก็จะมีผลกับรุ่นที่จะเลือกมาให้ลูกค้าดูเช่นกัน เช่นมีกล้อง 2 รุ่นที่ราคา 10,000 บาทเท่ากัน แต่รุ่น ก. เป็นราคาเฉพาะตัวกล้อง ในขณะที่รุ่น ข. แถมมาให้ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องซื้อเพิ่มแล้วถ้าลูกค้าสนใจรุ่น ก. ก็ต้องซื้อ เพิ่มอีกเป็นต้น เพราะฉะนั้นในขั้นตอนนี้คุณผู้อ่านก็กำหนดไว้ในใจเลยว่างบประมาณของเรานี้รวมถึงอะไรบ้าง

2.) ความต้องการ : ผมจะถามลูกค้าเสมอครับว่า

• จะซื้อกล้องไปเพื่อถ่ายอะไร หรือถ่ายภาพลักษณะไหน เช่น จะไปเที่ยวอยากได้ตัวที่พกง่ายๆหน่อย

/หรือเพิ่งหัดเล่นอยากได้ตัวที่ใช้งาน ไม่ซับซ้อน

/ หรือแม้กระทั่งมีกล้องอยู่แล้ว

1 ตัวแต่อยากได้กล้องตัวที่

2 ที่ปรับอะไรได้มากขึ้น เพราะถ้าความต้องการต่างกัน กล้องที่จะแนะนำก็ต่างรุ่นกัน

• ต้องการฟังก์ชั่นไหนเป็นพิเศษ : เช่น ลูกค้าจะเอาไปถ่ายงานอัญมณีที่อยากให้ถ่ายมาโคร (การถ่ายภาพระยะใกล้) ได้ดี ๆ

/ หรือจะเอาไปขยายภาพใหญ่ ๆ ก็ต้องดูที่ความละเอียดมากหน่อย เพราะฉะนั้นการที่ลูกค้าระบุฟังก์ชั่นต้องการ จะทำให้คัดเลือกรุ่นที่ตรงกับใจได้มากขึ้น

• อื่น ๆ : อย่างเช่น ลูกค้าอาจมียี่ห้อที่สนใจหรือไม่สนใจเป็นพิเศษ เช่น เห็นเพื่อนใช้ยี่ห้อ ก. แล้วชอบ อยากใช้ หรือเคยใช้ยี่ห้อ ข. แล้วไม่ถูกใจ อยากเปลี่ยนยี่ห้อ หรืออยากได้รุ่นที่ใช้ถ่าน AA เพราะราคาประหยัดกว่า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะสมมุติว่าลูกค้าไม่ชอบยี่ห้อ ข. นี้ เราก็ตัดยี่ห้อนี้ที่ถึงแม้จะมีสเป๊คบางอย่างที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ทิ้งไปได้เลย ซึ่งพอได้ข้อมูลความต้องการของลูกค้าแล้ว ก็จะจับเอามา match กับรุ่นกล้องตามงบประมาณของลูกค้าที่บอกไว้ ถึงขั้นตอนนี้ถ้างบประมาณของลูกค้าไม่ได้ต่ำเกินไปนัก ก็น่าจะมีหลาย ๆ รุ่นไว้ให้ลูกค้าได้เปรียบเทียบดู และแล้วก็จะมาถึงขั้นตอนสุดท้าย

3.) ทดลองใช้ : ผมจะบอกลูกค้าที่มาสอบถามเสมอว่าถึงจะมีรุ่นในใจแล้ว แต่ผมก็อยากให้ได้มาลองเล่น, ลองจับกล้องตัวจริง ๆ กันก่อนตัดสินใจซื้อกัน และผมก็จะเต็มใจทุกครั้งที่ได้ให้ลูกค้าได้ลองใช้ ถึงแม้บางทีลูกค้าอาจจะยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อด้วยซ้ำ แค่ลองศึกษาข้อมูล ก่อน เพราะอะไรน่ะเหรอ อย่างแรกก็คือกล้องตัวนึงไม่ใช่ถูก ๆ หลายคนเก็บหอมรอมริบเงินอยู่หลายเดือน เพราะฉะนั้นอยากให้ทุก ๆ คนที่ออกจากร้านไปแล้วแฮปปี้จริง ๆ กับการได้สินค้าตัวนี้กลับบ้าน เพราะมั่นใจแล้วว่าเป็นตัวที่ถูกใจ เพราะถ้าลูกค้าไม่แฮปปี้ ผมก็จะไม่แฮปปี้แน่นอน เพราะฉะนั้นจะให้ลองเล่น, ลองใช้งานดูจริง ๆ เลย ว่าคุณใช้แล้วเป็นอย่างไรบ้าง บางรุ่นสเป๊คดีถูกใจ แต่พอลูกค้าได้ลอง ลูกค้าติมาว่าหน้าตาไม่สวยเลย รับไม่ได้

/ หรือบางคนอาจว่าถือไม่ถนัด (ส่วนใหญ่ที่เจอก็อย่างเช่น ผู้ชายจะไม่ถนัดมือกับกล้องรุ่นเล็ก ๆ บาง ๆ ในขณะที่ผู้หญิงก็จะไม่ถนัดกับพวกตัวใหญ่ ๆ หนา ๆ )

/ หรือใช้งานรุ่นนี้แล้วงงจัง ในขณะที่อีกรุ่นซึ่งดูเทียบกันอยู่เข้าใจง่ายกว่า เป็นต้น ซึ่งผมพบว่ามีไม่น้อยครั้งเลยที่ลูกค้าดูอีกรุ่นนึงมา แต่พอได้ลองแล้วกลับได้อีกรุ่นนึงกลับไปแทน สัปดาห์นี้ ผมก็ขอจบตอนที่ 1 ไว้เท่านี้ก่อนนะครับ จะมาต่อตอนที่ 2 ผมจะพูดถึงรายละเอียดข้อมูลกล้อง ซึ่งก็จะลงลึกที่รายละเอียดขึ้น เช่นเรื่องความละเอียดของภาพ ค่ากันสั่น เลนส์ (อาจเป็นเรื่องที่คุณผู้อ่านหลายท่านอาจคุ้น ๆ กับศัพท์เหล่านี้อยู่บ้างแล้ว) รวมทั้งยังมีศัพท์ใหม่ ๆ อีกหลายตัวที่ยังไม่ได้กล่าวถึงด้วย ซึ่งมันก็จะเป็นหัวข้อที่ซับซ้อนขึ้นเล็กน้อยกว่าหัวข้อวันนี้ แต่มันจะช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อกล้องของคุณผู้อ่านได้มากขึ้นแน่นอนครับ อย่างไรก็ตาม ผมจะพยายามเลือกใช้คำที่เข้าใจง่ายๆมาคุยให้ฟังเหมือนเดิมนะครับ พบกันครั้งหน้าครับ